วิธีการเลือกซื้อรถมือสอง

ซื้อรถยนต์มือสองต้องรู้อะไรบ้าง? โดย พีราวุธ พรหมมาพันธุ์

รถยนต์นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในทุกวันนี้ เพราะเวลาไปไหนมาไหนมันเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางใกล้ไกล แถมยังเพิ่มความเป็นส่วนตัวอีก ไม่ต้องไปยืนรอรถเพื่อเบียดเสียใครต่อใคร ไม่ต้องง้อแท๊กซี่เรียกให้จอดรับก็ยากเสียเหลือเกิน ใครๆ ก็อยากจะมีรถเป็นของตัวเอง คนที่มีเงินหรือมีความพร้อมหน่อยก็ซื้อรถใหม่ป้ายแดงไปเลย แต่สำหรับบางคนต้องยอมทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ กว่าจะเก็บสะสมเงินไว้ซื้อรถสักคันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน หรือบางทีเงินมีก็ต้องเก็บไว้ใช้อย่างอื่น บางคนเงินเก็บสะสมไม่มีต้องยอมขายไร่นาหรือยอมเป็นหนี้โดยการผ่อนกับไฟแนนซ์ งานนี้โดนดอกเบี้ยเข้าไปอีกบานเบอะ พอได้รถมาแล้ว แทนที่จะได้ขับอย่างสบายใจเหมือนคนอืน กลับเป็นภาระให้ปวดหัววุ่นวาย เสียเงินซ่อมนู่นนี่สารพัดซ่อม เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และที่สำคัญเสียความรู้สึก ก่อนจะซื้อก็ถามคนขายแล้ว คนขายก็บอกว่าดีหมด อันนี้ไม่รู้ว่าไอ้รถที่ว่าดีมันหมดแล้ว เหลือแต่ที่ไม่ดีหรือเปล่า เพราะคนขายบางคน ขอย้ำนะครับว่าบางคน อยากขายรถเขาก็ต้องบอกว่าดีไว้ก่อน บอกไม่ดีแล้วจะมีคนซื้อรถมั้ย แต่วันนี้ผมจะพาไปเลือกซื้อรถมือสองกัน ว่าการจะซื้อรถสักคันจำเป็นจะต้องดูอะไรบ้าง มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นเซียนดูรถมือสองเคยกล่าวไว้ว่า การเลือกซื้อรถมือสองเหมือนการหาร่องรอยฆาตกรรม การฆาตกรรมฆาตกรต้องทิ้งร่องรอยไว้บ้างไม่มากก็น้อย เหมือนรถมือสองถ้ามีการชนหนักพลิกคว่ำมา ไม่ว่าจะมีการซ่อมแซ่มทำสีมาดีแค่ไหนต้องเหลือร่องรอยให้เห็น ถ้าไม่มีหรือร่องรอยน้อยมาก แสดงว่ารถคันนั้นดีจริงสวยจริง ซื้อได้ขับก็สบายใจ

  1. ก่อนอื่นให้คนขายขับรถออกมาจอดในที่สว่างหน่อย ข้อควรระวัง อย่าดูรถในที่มืดนะครับหรือกลางคืนห้ามดูเลย ต้องดูในที่สว่างเท่านั้น ไม่ต้องถึงกลางแดดจัดนะครับ มันร้อนและตาอาจอาจพร่ามัวได้เผลอๆอาจเป็นลมเอา ก็ดูกันตั้งแต่ด้านหน้าจรดด้านหลัง และการจะดูรถควรยืนให้ห่างจากรถประมาณ 3 เมตร คราวนี้คุณจะได้เห็นตัวรถในมุมหรือมิติที่กว้างขึ้นชัดเจนมากขึ้น คราวนี้ก็ไล่ดูตามสเต็ปเลยครับ เริ่มจาก
    1. กันชนหน้า กระจังหน้า และไฟหน้า ต้องได้รูปไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เส้นโค้ง โดยรวมต้องเข้ารูป สวยงาม ถ้าไม่เข้ารูปตามที่บอกแสดงว่ามีการชนด้านหน้าทำสีหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนมา แล้วปรับตั้งไม่ตรง ส่วนนี้ให้เราเก็บข้อมูลไว้ เพราะยังไม่อาจสรุปได้ว่ารถชนมาหนักหรือแค่ทำสีมาก่อน ต้องดูส่วนอื่นๆประกอบด้วย
    2. ฝากระโปรงหน้า ร่องระหว่างฝากระโปรงกับแก้ม ต้องเป็นสันตรงกันทั้งสองข้าง ด้านหน้าต้องตรงกันรับกับไฟหน้าและกระจังหน้า ถ้าไม่เป็นตามนี้ แสดงว่ามีการถอดประกอบเพื่อเปลี่ยนหรือทำสี และมีการปรับตั้งไม่ตรง
    3. คานหน้า ปกติถ้ารถพลิกคว่ำมักจะยุบบริเวณคานหน้า การจะดูว่ามีรถการชนหนักชนเบาหรือพลิกคว่ำ มีจุดที่สังเกตุได้คือ รอยอาร์ค รอยอาร์คนี้มันมีประโยชน์คือ เชื่อมส่วนต่างๆ ของตัวถังเข้าด้วยกัน และถูกทำขึ้นโดยโรงงานเท่านั้น หรือทำโดยหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้น ร่องรอย การเชื่อมต่อประสานแต่ละจุด แต่ละตำแหน่ง จะต้องดูเรียบร้อย
    4. หลังคา ต้องสังเกตให้ดีและทั่วนะครับว่าเรียบดีหรือไม่ มีการบิดของเสาตัว A หรือไม่ ตรงนี้ต้องสังเกตดีๆ ตรงขอบยาง ขอบน้ำฝน ต้องเรียบ ไม่บิ่น และต้องดูด้วยว่าหลังคา มีการเอียง การยุบ หรือโค้งไม่ได้รูปอย่างไร เพราะรถพลิกคว่ำต้องดูจากหลังคานี่แหละครับ
    5. ประตู ร่องระหว่างประตู ระหว่างแก้มหน้า เสาประตู ประตูหลัง จนถึงแก้มหลัง ว่าช่องว่างต่างๆ ว่าตรงกันไหม รวมถึงเส้นสันต่างๆที่อยู่บนตัวรถกับประตู หรือประตูหน้ากับประตูหลังเป็นแนวเดียวกันหรือไม่ ถ้ามันผิดเพี้ยนไปแสดงว่ามีการชนด้านข้างหรือมีการถอดทำสีมาก่อน เมื่อประกอบเข้าแล้วปรับตั้งไม่ตรง ดูด้านนอกแล้วต้องดูด้านในด้วย ดูร่องรอยการถอด การทำสี ตะเข็บรอยอาร์คต่างๆตามขอบประตู และสังกระจกด้วยว่าเป็นของเดิมหรือมีการเปลี่ยนมา เพราะส่วนมากจะไม่มีการเปลี่ยนกัน นอกจากจะโดนชนเข้าบริเวณประตูเต็มๆ เจ้ากระจกนี้ยังมีตัวเลขที่สามารถบอกปีที่ผลิตรถได้ด้วย สำหรับรถบางยี่ห้อ
    6. ด้านท้ายสังเกตกันชนท้าย และฝากระโปรง ฝากระโปรงท้าย หลักการดูหรือสังเกตเหมือนกับการดูรถด้านหน้า ต้องได้รูปไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เส้นโค้ง โดยรวมต้องเข้ารูป สวยงาม ถ้าไม่เข้ารูปตามที่บอกแสดงว่ามีการทำสีหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนมา แล้วปรับตั้งไม่ตรง
  2. สีรถ ดูสีรถรอบคัน ว่ามีส่วนไหนที่ทำสีมาแล้วบ้าง สังเกตสีดูครับทำสีมาใหม่กับสีเดิมย่อมต่างกัน ความเรียบของผิวรถ ตำหนิต่างๆ เกี่ยวกับสี หรือว่าเคยทำสีมาทั้งคัน ถ้าทำสีมาทั้งคันต้องตรวจเช็คให้ดีครับ ว่าทำสีทั้งคันเพราะอะไร ไม่ชอบสีเดิม สีซีด หรือรถมีอุบัติเหตุมาหนักจนทำให้ต้องทำสีรอบคัน
  3. เคาะฟังเสียง โดยการไล่เคาะรถบางส่วนหรือรอบคันเพื่อฟังเสียง เคาะเบาๆนะครับ เคาะแรงเดี๋ยวรถเป็นรอยและเจอข้อหาหมั่นไส้จากคนขาย รถที่ทำสีแล้วมักจะมีการโป๊ว การโป๊วหนาย่อมหมายถึงอุบัติเหตุมาก เราสามารถเคาะดูเสียงที่แตกต่างกันได้ โดยการไล่เคาะฟังเสียงไปให้ทั่วทั้งคัน เคาะฟังเสียงไปเรื่อย ถ้าปกติรถที่ไม่เคยทำสีมาหรือไม่เคยโป้วสีมา เสียงเคาะจะใสกังวาล ถ้ามีจุดใดทำสีมา เสียงจะต้องดังแบบแน่นๆ นั้นแหละคือเสียงของสีโป้ว ถ้าเราสังเกตุว่าที่เราเคาะไปแล้วเสียงมันแน่นๆเหมือนวัสดุมันหนากว่าจุดอื่น ให้ฟันธงได้เลยว่าจุดนี้ทำสีมาแน่ๆ เราก็จำไว้เพราะจุดนี้ต้องมาพิจารณาอีกว่ามันเป็นแค่การทำสีนิดๆหน่อยๆ หรือมีการชนจบบุมหรือที่รุนแรงกว่านั้นคือการชนหนัก
  4. คานหน้ารถ ต้องเปิดฝากระโปรงหน้ารถดูเพราะรถที่มีการชนมา ไม่ว่าจะชนตรงๆ หรือชนด้านข้าง ให้ดูคานหน้าที่ยึดหม้อน้ำนี่แหละครับ ดูมันทั้งด้านบนและด้านล่างเลย แต่หลักๆให้ดูด้านบนครับเพราะดูง่ายกว่า เห็นง่ายกว่า รถที่มีการชนด้านหน้ามารูน็อตต่างๆ จะบิดเบี้ยวไม่กลมเรียบเนียนเหมือนมาจากโรงงาน รอยตะเข็บที่มุมด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะมีร่องรอยการเชื่อมต่อและการทำสีจะไม่เรียบร้อย
  5. ภายในห้องเครื่อง ดูว่าสีกลมกลืนทั้งห้องเครื่องยนต์หรือไม่ ถ้าสีดูแล้วฉ่ำเงาใหม่แสดงว่ามีการยกเครื่องออกแล้วเพื่อซ่อมตัวถังแล้วทำสีมาใหม่ เบ้าโช๊คอัพถ้ามีการชนหนักมากถึงโช๊คอัพจะมีร่องรอยการทำสี รูปทรงจะผิดไป และรอยอาร์คตามภาพ เป็นรอยที่เรียบร้อยครับ ไม่มีการทำสีทำมา หากมีการทำสีทับมา ก็อาจจะเห็นเป็นร่องตื้นๆ แต่ถ้ามีการ ยืด ดัด หรือตัด และเชื่อมต่อมา ส่วนมากจะไม่เห็นรอยนี้ จะเรียบไปเลย และให้สังเกตรูต่างๆ ด้วย ว่ามันกลมเรียบหรือไม่ มาตรฐานจากโรงงาน ต้องกลม และขอบต้องเรียบ รวมถึงสังเกตดูแผ่นสติ๊กเกอร์ที่ติด ถ้ามีการลอกออกแล้วติดใหม่จะมีร่องรอยความเสียหายตามขอบสติกเกอร์
  6. ภายในฝากระโปรงท้ายหรือห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย ตรวจดูครับจะได้รู้ว่ารถโดนชนท้านมาหรือไม่ หนักหนาเพียงใด เปิดดูให้หมดทั้งบริเวณคานด้านท้าย เบ้ายึดไฟท้ายมีร่องรอยการถอดการเคาะทำสีบริเวณจุดนั้นหรือไม่ลองเปิดดูครับ ห้องเก็บยางอะไหล่ต้องไม่มีร่องรอยการทำสีมาใหม่ สังเกตตามจุดต่างๆ เช่น รอยไม้กวาดจุดที่เป็นยาแนวสีเหลืองขุ่นๆที่วงไว้นั่นแหละครับว่าถ้าสีผิดไปจากเดิม หรือรอยปัดไม่เรียบร้อย ฟันธงได้เลยโดนชนท้ายมาแน่ๆ และดูว่าครับว่ามีการทำสี เคาะ โป๊ว หรือ ตัดเชื่อม บัดกรีมาหรือไม่ ควรดูทั้งด้านบนและก้มดูด้านล่างด้วยครับ(จากรูปประกอบสภาพเดิมจริงๆครับ)
  7. ใต้ท้องรถ มุดดูกันให้เห็นๆไปเลย หรือเต็นท์ไหนมีลิฟท์ยก ขอให้เขาเอารถขึ้นดูใต้ท้องเลยครับ จะได้รู้ว่าคัชซีมีการเชื่อมหรือตัดต่อหรือไม่ ลูกหมากหรือชิ้นส่วนอื่นๆมีร่องรอยเสียหายคดงอบิดเบี้ยว จากการกระแทกหรือไม่ ยางหุ้มต่างๆขาด รวมถึงรอยน้ำมันที่อาจมีการรั่วซึมจากบริเวณอ่างน้ำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ด้วย
  8. ภายในรถก็สำคัญไม่แพ้ภายนอกครับ จะซื้อรถทั้งทีต้องดูให้ละเอียดทั้งภายในภายนอกครับ รถดีต้องดีทั้งคันครับ มาดูว่าต้องดูอะไรบ้าง
    1. เบาะรถยนต์ ลองนั่งดูครับนั่งแล้วสบายก้นหลัง หรือปรับได้เป็นปรกติหรือไม่ เข็มขัดนิรภัยใช้งานได้ ลองสำรวจดูจุดอื่นๆไปด้วย ว่ามีร่องรอยการถอดเบาะ ถอดเพราะอะไร อาจเป็นไปได้ว่าถอดออกเพื่อทำสีพื้นด้านล่าง หรือถอดออกเนื่องจากถอดพรมซักเบาะเนื่องจากน้ำท่วม หรือลุยน้ำมา ลองสังเกตดูครับตามหัวน็อตยึดจะมีร่องรอยประแจให้เห็นอยู่
    2. แผงคอนโซลหน้า ตรวจเช็คดูให้ละเอียดครับว่าเป็นของเดิมจากโรงงานและอยู่ในสภาพปรกติไม่มีร่องรอยการถอด เพราะถ้ามีการถ้ามีการถอด แสดงว่ามีการรื้อระบบต่างๆภายในแผงคอนโซล และเป็นไปได้ว่าระบบไฟมีปัญหาหรือแอร์แบ็คเคยทำงานมาก่อน
    3. แผงหน้าปัด ตรวจเช็คดูครับว่าเป็นของเดิมตรงรุ่น ทำงานได้ตามปรกติ ดูระยะกิโลการใช้งานต้องสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่นปีรถ หรือสภาพรถที่ถูกใช้งานนานๆ อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนอื่นๆ ดูแล้วอย่างอื่นเก่าหมดแต่ระยะกิโลน้อยมาก สันนิษฐานไว้เลยว่ามีการเปลี่ยนไมล์ ส่วนจะเปลี่ยนเพราะอะไรก็ต้องสอบถามคนขายดู หรือปรับเลขไมล์มา อยู่ที่ท่านแล้วครับจะซื้อหรือไม่ซื้อ
    4. พวงมาลัย และ หัวเกียร์ สังเกตพวงมาลัยว่า มีการยุบอย่างไร พวงมาลัยและหัวเกียร์ที่ผ่านการใช้งานหนัก จะมีการสึกหรอสูง จนเป็นมัน เป็นรอยแตก สังเกตลายที่แตกต่างบนพวงมาลัย อันนี้เป็นจุดพิจารณาอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับกับว่ารถดีหรือไม่ดี เพราะของมันเปลี่ยนกันได้
    5. ผ้าหลังคารถ ดูว่ายังเป็นของเดิมมาจากโรงงาน หรือมีการประกอบยึดใหม่ หรือเปลี่ยนใหม่เพราะอะไร และดูร่องรอยคราบน้ำต่างๆ เพราะถ้ามีอาจเป็นเพราะหลังคามีรอยรั่ว รถอาจเคยพลิกคว่ำมาก่อนหรือมีของหนักๆหล่นใส่หลังคาจนต้องมีการรื้อทำสีหลังคาใหม่ อันนี้น่ากลัวครับ เจอแล้วถอยห่างดีกว่า
  9. เครื่องยนต์ เป็นหัวใจหลักเลยถ้าเครื่องยนต์มีปัญหามีแต่เรื่องให้ปวดหัว บางทีแก้ไม่จบ ก่อนซื้อตรวจเช็คดูให้ดีว่าเป็นเครื่องยนต์เดิมตรงกับที่ระบุในเล่มทะเบียน หรือมีการเปลี่ยมาใหม่ ตรวจสอบตามจุดต่างๆ มีร่องรอยการถอดการรื้อเปลี่ยนมาหรือไม่ โดยสังเกตุตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวน็อตยึดจุดต่างๆมีร่องรอยการถอดด้วยประแจตรงจุดไหน สายไฟต่างๆมีการห่อหุ้มเดินสายอย่างเป็นระเบียบ ท่อน้ำทางเข้าออกเหล็กรัดของเดิมหรือไม่ ถ้าทุกอย่างเดิมๆจากโรงงานจะมีรอยสีแต้มให้เห็น ถ้าดูแล้วของเดิมหมดและมีสภาพปรกติ คราวนี้ก็ลองสตาร์ทเครื่อง เครื่องจะต้องสตาร์ทติดได้ง่าย เดินได้อย่างราบเรียบ ไม่มีอาการสะดุดหรือสั่น สังเกตควันที่ออกมาด้วย ถ้าเป็นเครื่องดีเซลไม่ควรดำ หรือเครื่องเบนซินไม่ควรขาว
  10. ช่วงล่าง และล้อยาง ลองหมุนโยกพวงมาลัยไปซ้ายขวาแรงๆ หรือทดลองขับเป็นการดีถ้าคนขายเขายอม ลองทดสอบการเกาะถนนทางตรงและทางโค้ง รถต้องไม่กินซ้ายกินขวา ทดลองเลี้ยวกลับรถแบบสุดๆ ทั้งซ้ายและขวา การคืนพวงมาลัย ขึ้นเนินลูกระนาด หรือรองบนทางขรุขระ ทุกรูปแบบที่สามารถจะทดสอบได้ อย่าลืมครับว่ารถที่เคยมีอุบัติเหตุชนหนักพลิกคว่ำมาก่อน ต่อให้ซ่อมดีขนาดไหนเมื่อก็คงไม่สามารถดีเหมือนเดิม เหมือนคนขาหักจะให้กลับมาวิ่งได้ดีแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้